ค่าทวงถามหนี้จะถูกกำหนดในสัญญาที่ผู้เช่าซื้อได้ทำกับไฟแนนซ์ ว่าถ้ามีการชำระค่างวดล่าช้าในแต่ละครั้งจะมีการเรียกเก็บค่าทวงถาม และถ้ามีการขาดส่งค่างวดเป็นเวลา 3 งวดติดกันไฟแนนซ์มีสิทธิยกเลิกสัญญาและทำการยึดรถจากผู้เช่าซื้อทันที และผู้เช่าซื้อต้องชำระหนี้ค่ารถที่ยังค้างอยู่ให้ครบอีกด้วย ไม่ใช่ว่ายึดรถไปแล้วจะจบเพราะถือว่าผู้เช่าซื้อได้ทำผิดสัญญา

โดยข้อมูล จากธนาคารแห่งประเทศไทยเกี่ยวกับอัตราค่าธรรมเนียมเปรียบเทียบของสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม ที่ผ่านมา พบว่า ค่าติดตามทวงถามหนี้ของธนาคารพาณิชย์ จะคิดอัตราตั้งแต่ 200 บาทต่อสัญญาไปจนถึง 35,000 บาท ขึ้นอยู่กับชนิดของรถยนต์

ตัวอย่าง การคิดอัตราค่าทวงถามจาก ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จะคิด 200 บาท/สัญญาเมื่อผิดนัดหนึ่งงวด และงวดที่ 2 จะคิด 300 บาท/สัญญา, ธนาคารทิสโก้ จะคิด 321 บาท/งวด, ธนาคารไทยพาณิชย์ กรณีที่ยังไม่บอกเลิกสัญญา จะคิด 321-535 บาท/งวด แต่ถ้าบอกเลิกสัญญาจะคิดค่าใช้จ่าย 1,500-16,000 บาท, ธนาคารธนชาตจะคิดขั้นต่ำ 400 บาท สูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท, ธนาคารแลนด์แอนเฮ้าส์จะคิด 200 บาทต่อครั้ง เป็นต้น

ดังนั้น ถ้าเกิดมีค่าทวงถามเรียกเก็บมา ต้องจ่ายไปให้ครบ เพราะตราบใดที่รถยังเป็นกรรมสิทธิ์ของไฟแนนซ์อยู่ เล่มทะเบียนรถยังอยู่กับไฟแนนซ์ ผู้เช่าซื้อก็ยังไม่มีสิทธิใดๆ ตามกฎหมายในรถคันนั้น แม้ผู้เช่าซื้อจ่ายค่างวดครบตามจำนวนแต่ไม่ชำระค่าทวงถาม หรือค่าปรับที่ชำระล่าช้า ทางไฟแนนซ์ก็มีสิทธิที่จะไม่โอนกรรมสิทธิ์รถให้เป็นของผู้เช่าซื้อได้

แต่ถ้าเงินค่าทวงถามหรือค่าปรับเป็นจำนวนเงินที่สูงเกินไปไม่สมเหตุสมผล หรือไม่ได้ระบุในสัญญา แล้วไฟแนนซ์มาเรียกเก็บแบบนี้ผู้เช่าซื้อสามารถฟ้อง สคบ. หรือจ้างทนายฟ้องศาลได้เลย

ทางที่ดีที่สุดก็คือคุณผู้ชม ควรจ่ายค่ารถให้ตรงงวด เพื่อจะได้ไม่ต้องเสียค่าทวงถามเพิ่มอีก นอกจากดอกเบี้ยที่คุณเสียให้ไฟแนนซ์ไปแล้วก็ไม่ใช่เงินน้อยๆ

 

ที่มา: news.ch7.com