ช่วงนี้มีข่าวครึกโครมว่า ธนาคารออมสิน สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ที่มีภาพจำว่าเป็น “แบงก์เด็ก” จะกระโดดลงไปเล่นในตลาดสินเชื่อ “จำนำทะเบียนรถ”

โดยคิดไกลไปถึงการเป็น “ผู้นำตลาด” สามารถชี้เป็นชี้ตายกำหนดอัตราดอกเบี้ยได้ อย่างที่ได้ยินผู้อำนวยการธนาคารออมสินคนใหม่ประกาศว่า จะทำให้ดอกเบี้ยลดลงให้ได้ 8-10%

ซึ่งปัจจุบันธุรกิจ “จำนำทะเบียนรถ” นี้มีการคิดอัตราดอกเบี้ยกันค่อนข้างสูง โดยหากเป็นผู้ประกอบการที่ถือไลเซนส์สินเชื่อบุคคล (พีโลน) ก็จะคิดดอกเบี้ยได้ไม่เกิน 28% ต่อปี หรือหากเป็นผู้ประกอบการที่ถือไลเซนส์พิโกไฟแนนซ์ ก็สามารถคิดดอกเบี้ยได้ถึง 36% ต่อปีเลยทีเดียว

เข้าใจว่าเรื่องนี้ไม่ใช่แนวคิดใหม่ของภาครัฐ เพราะมีความพยายามจะเข้าไปดูแลตลาดนี้กันมานานพอสมควรแล้ว ไล่มาตั้งแต่การต้อนผู้ประกอบการเข้าระบบ เพื่อให้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของธนาคารแห่ประเทศไทย (ธปท.) และกระทรวงการคลัง จากเดิมที่ไม่มีใครกำกับ

ล่าสุดก็เพิ่งใช้มาตรการบังคับให้ผู้ประกอบธุรกิจที่มิใช่สถาบันการเงิน (น็อนแบงก์) ปรับลดเพดานดอกเบี้ย ในส่วนสินเชื่อจำนำทะเบียนรถจาก 28% เหลือ 24% โดยกำหนดเป็น “มาตรการถาวร” ไม่ใช่แค่มาตรการช่วยเหลือชั่วคราวในช่วงสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าวมีผลแล้วตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค. 2563 เป็นต้นไป ก็ถือว่าช่วยลดดอกเบี้ยไปได้ถึง 4% เลยทีเดียว

รวมถึงที่ผ่านมา ภาครัฐก็เคยมีแนวทางที่ให้ธนาคารกรุงไทย ร่วมกับ บมจ.บัตรกรุงไทย หรือ “เคทีซี” ตั้งบริษัทลูกขึ้น เพื่อรุกตลาด “จำนำทะเบียนรถ”

อย่างไรก็ดี จากการพูดคุยกับผู้หลักผู้ใหญ่ในกระทรวงการคลังก็ได้ทราบว่า กลไกของทาง “เคทีซี” อาจจะไม่เวิร์กนัก หากจะผลักดันไปถึงขั้นเป็น “ผู้นำตลาด”

หนึ่ง ไม่ค่อยมีสาขา โดยเฉพาะสาขาตามต่างจังหวัด ที่มีประชาชนรายย่อยนิยมใช้บริการสินเชื่อประเภทนี้จำนวนมาก

สอง การเป็นบริษัทลูกของธนาคารพาณิชย์ และอยู่ในตลาดหุ้น ทำให้ขยับตัวค่อนข้างลำบาก เพราะกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ที่เข้มงวด

ในขณะที่ธนาคารออมสินมีสาขาทั่วประเทศมากกว่า 1 พันสาขา มีฐานลูกค้าหลายล้านคน

และข้อมูลที่น่าสนใจก็คือ ฐานลูกค้าใหม่ที่เพิ่งเข้ามา เมื่อตอนที่แบงก์ปล่อยสินเชื่อฉุกเฉินให้กับผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยผู้ประกอบอาชีพอิสระกู้ได้วงเงินไม่เกิน 1 หมื่นบาท และผู้มีรายได้ประจำกู้ได้ไม่เกิน 5 หมื่นบาท

พบว่าผู้ขอกู้ส่วนใหญ่นับล้านคน เป็นลูกค้าใหม่ที่ไม่เคยใช้บริการสินเชื่อของออมสินมาก่อน มีลูกค้าเก่าอยู่แค่หลักแสนคนเท่านั้น

ผู้หลักผู้ใหญ่ที่เกี่ยวข้องจึงเห็นว่า ควรจะให้ออมสินในฐานะธนาคารของรัฐเข้าไปดูแลลูกค้ารายย่อยเหล่านี้ เพราะตลาดนี้ยังคิดดอกเบี้ยกันแพง ทั้ง ๆ ที่ต้นทุนการเงินค่อนข้างถูก กินกำไรส่วนต่างกันพุงกาง

ซึ่งวิธีการก็มีทั้งการให้แบงก์ทำเอง, การจัดตั้งบริษัทลูก หรือการร่วมทุนกับผู้ประกอบการอื่นที่มีความเชี่ยวชาญ

หากทำได้สำเร็จจะช่วยคนตัวเล็กตัวน้อยราว 10 ล้านคน ที่ต้องอาศัยแหล่งเงินจากตลาดสินเชื่อ “จำนำทะเบียนรถ” ไปหมุนกิจการ หรือเพิ่มสภาพคล่องในครัวเรือน ให้ได้มีแหล่งเงินที่ต้นทุนต่ำลง

เผื่อว่าจะช่วยให้คนเหล่านี้มีโอกาสลืมตาอ้าปากได้บ้าง

 

ที่มา: prachachat.net